ยาระบาย (Laxative Drug) คือยาที่ใช้รักษาอาการท้องผูก

ยาระบาย (Laxative Drug) คือยาที่ใช้รักษาอาการท้องผูก ยาระบายจะออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้ หรืออาจเพิ่มความอ่อนนุ่มให้อุจจาระ ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้สะดวกและง่ายต่อการขับถ่าย ก่อนใช้ยาระบายควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับยา ฮอร์โมน วิตามินหรืออาหารเสริมที่รับประทานอยู่ในขณะนั้นได้

คำเตือนในการใช้ยาระบาย

ไม่ควรใช้ยาระบายเพื่อเป็นยาลดน้ำหนัก เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยออกมารับรองว่าการใช้ยาระบายช่วยในการลดน้ำหนักได้
ไม่ควรใช้ยาระบายเกินขนาดหรือใช้ยาระบายเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกายและโรคต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น
กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะขาดน้ำ
โรคหัวใจ
โรคไต
โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ริดสีดวงทวาร ลำไส้ตรงปลิ้น
สมดุลของแร่ธาตุในร่างกายที่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม

ปริมาณการใช้ยาระบาย

ยาระบายมีหลากหลายรูปแบบ ปริมาณการใช้จึงแตกต่างกัน ก่อนการใช้ยาทุกครั้งจึงควรศึกษาฉลากบนบรรจุภัณฑ์ หรือหากมีการใช้ยาระบายติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ตัวอย่างปริมาณการใช้ยาระบาย

ยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) ผู้ใหญ่ รับประทานขนาด 5-10 มิลลิกรัม 1-2 เม็ดต่อวัน แต่สูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4-10 ปี รับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อวัน รับประทานตอนก่อนนอน หรือตอนท้องว่างเพื่อการออกฤทธิ์ที่เร็วขึ้น และควรเว้นระยะในการรับประทานยานี้หลังการรับประทานยาลดกรดหรืออาหารประเภทนม เนย ชีส อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
ยาเซนโนไซด์ (Sennosides) ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป รับประทาน 2-4 เม็ดต่อวัน และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6-12 ปี รับประทาน 1-2 เม็ดต่อวัน รับประทานก่อนหรือหลังอาหาร

การใช้ยาระบาย

ยาระบายมีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการออกฤทธิ์ของยา โดยปกติแบ่งได้เป็น 6 ประเภท มีรายละเอียดดังนี้

ยาระบายที่ทำให้อุจจาระนิ่ม (Emollient Laxative) ออกฤทธิ์เพิ่มความชุ่มชื้นและทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น อ่อนโยนต่อระบบขับถ่าย สามารถใช้ได้เป็นประจำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกไม่มากหรือท้องผูกเรื้อรัง โดยมีด็อกคูเสทโซเดียม (Docusate Sodium) และด็อกคูเสทแคลเซียม (Docusate Calcium) เป็นสารออกฤทธิ์
ยาระบายที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน (Bulk-forming Laxative) ออกฤทธิ์ทำให้อุจจาระจับตัวกันคล้ายเจล เพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำ อุจจาระจะมีขนาดใหญ่ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้ขับถ่ายได้เร็วขึ้น โดยมีไซเลียม (Psyllium) เมธิลเซลูโลส (Methylcellulose) และโพลีคาร์โบฟิล (Polycarbophil) เป็นสารออกฤทธิ์
ยาระบายแบบกระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ (Stimulant Laxative) ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้บีบตัวเพิ่มขึ้น ไม่ควรใช้ยาระบายประเภทนี้เป็นประจำ เนื่องจากทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและอิเล็คโทรไลท์ในร่างกายเสียสมดุลได้ โดยมีบิซาโคดิล (Bisacodyl) และเซนโนไซด์ (Sennosides) เป็นสารออกฤทธิ์
ยาระบายแบบสารหล่อลื่น (Lubricant Laxative) ออกฤทธิ์เคลือบอุจจาระและลำไส้เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกในระยะสั้นและต้องการขับถ่ายโดยด่วน โดยมีน้ำมันแร่ (Mineral Oil) เป็นสารออกฤทธิ์
ยาระบายแบบไฮเปอร์ออสโมติก (Hyperosmotic Laxative) ออกฤทธิ์ดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้นและทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง หากมีการใช้ยาระบายในรูปแบบนี้ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยมีโพลีเอทิลีน ไกลคอล (Polyethylene Glycol) และกลีเซอรีน (Glycerin) เป็นสารออกฤทธิ์
ยาระบายแบบเกลือ (Saline Laxative) ออกฤทธิ์ดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น กระตุ้นการทำงานของลำไส้และทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น โดยยาระบายแบบเกลือจะมีสารออกฤทธิ์ คือ แมกนีเซียมซิเตรท (Magnesium Citrate) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) หรือมิลค์ออฟแมกนีเซีย ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้ทั่วไป แต่ไม่ควรใช้ยาระบายในรูปแบบนี้เป็นประจำ เนื่องจากทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและอิเล็คโทรไลท์ในร่างกายเสียสมดุลได้

ก่อนการใช้ยาระบายควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะหากอยู่ในช่วงที่มีการใช้ยา ฮอร์โมน รวมถึงการใช้วิตามินหรืออาหารเสริม เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ยาที่ใช้ในการรักษาอาการแสบร้อนกลางอก ฮอร์โมนเอสตร้าไดออล (Estradiol) ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) หรือยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง เช่น ยาฟูโรซีไมค์ (Furosemide) ยาไฮโดรคลอไรไทอะไซต์ (Hydrochlorothiazide) เป็นต้น